ผมได้ดำเนินธุรกิจโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างเข้าสู่ปีที่ 5 ในช่วงปีที่ผ่านมา ผมมีความเข้าใจและความคิดที่ว่า ทุกคนทำงานไปเพื่อเงินเท่านั้น ซึ่งผมมักจะเจอปัญหาการขาดงาน การมาสาย และการทำงานไปวันๆของน้องๆพนักงานในส่วนผลิต ผมพยายามจะเพิ่มงบขยัน ตักเตือนหรือหักคะแนนคนมาสาย พยายามติดกล้อง เพื่อจับผิด และตรวจสอบความบกพร่อง และความไม่ขยันของพวกเขา พยายามสร้างระบบการทำงานเป็นขั้นตอนที่ง่ายในการนำไปใช้ และสั่งให้ทุกคนปฏิบัติตาม สิ่งที่ผมนั้น ผมเพิ่งมาเข้าใจว่า นั้นคือจุดเริ่มต้นของหายนะของทั้งหมด คนเราเมื่อมีแรงจูงใจทางด้านเงินเข้ามากระตุ้น ส่งผลให้ความพึงพอใจที่ได้รับจากงานในด้านอื่นๆลดลง ยิ่งในงานนั้น ไม่ปล่อยให้พนักงานได้ตัดสินใจ ให้พนักงานได้รู้จุดประสงค์ในการทำงาน หรือ ให้อิสระในการคิด และคอยจับผิด งานนั้นจะไร้คุณค่าในความรู้สึกของพวกเขาทันที ซึ่งร่วมถึงตัวผม
ในความคิดของอาดัม สมิธ เชื่อว่าพื้นฐานมนุษย์เรานั้นขี้เกียจ จึงหาทางให้คนทำงานได้ทำงานที่ง่าย และไม่ซับซ้อน โดยอ้างอิงจากจากโรงงานเข็มหมุดของเขา เขาแบ่งคนตามหน้าที่ ดัดลวด ตัดลวด ทำให้ปลายเข็มแหลม และติดที่จับเข็มหมุด ด้วยวิธีนี้ทำให้ในหนึ่งวันสามารถทำเข็มหมุด ออกมาได้มากกว่าหมื่นชิ้น และที่สำคัญการแบ่งงานแบบนี้ ได้ผลผลิตมากกว่า แบบให้คนใดคนหนึ่ง ทำทุกขั้นตอน หลังจากนั้น แฮนรี่ฟอร์ด ในยุคปฏิวัติอุตสหกรรมก็ได้นำแนวคิดของสมิท มาต่อยอดทำให้การผลิตแบบสายพานเกิดขึ้น และนั้นทำให้คนบางกลุ่มหลีกหนีความยากจน และผลิตสินค้าได้มากเท่าที่ต้องการ แต่นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของ การทำงานที่ได้รับเพียงตัวเงิน เป็นงานที่ไม่ซับซ้อนที่น่าเบื่อ ซึ่งส่งผลให้จิตวิญญาณนั้นแห้งเหี่ยว
พนักงานภารโรงของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เขาได้รับมอบหมายให้ทำความสะอาดตามจุดต่างๆของโรงพยาบาล ในทางเดิน ในห้องน้ำรวม รวมถึงทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้าปูที่นอนในห้องของผู้ป่วยด้วย พนักงานคนนี้ชื่อว่า “ลุค” ในทุกๆวันลุคได้ทำงานโดยปฏิบัติตามคู่มือในตารางงานของเขาตามปกติ แต่มีวันหนึ่งเขาได้เข้าไปทำความสะอาดในห้องของคนไข้ ที่เป็นเด็กวัยรุ่นนอนรักษาตัวจากอุบัติเหตุรถ ทำให้ต้องนอนรักษาหลายเดือน เมื่อลุคทำความสะอาดในห้องนั้นเสร็จ เขาก็เดินออกไป สวนทางกับพ่อของเด็กวัยรุ่นคนนั้น หลังจากผู้เป็นพ่อเดินเข้าไปในห้อง เขารีบกลับออกมาตะโกนด้วยความโมโหใส่ลุคว่า “ทำไมคุณถึงไม่ทำความสะอาดห้อง ให้รีบกลับไปทำความสะอาด และถูห้องเดี๋ยวนี้เลย” ลุคได้ยินดังนั้น เขาหยุดนิ่งชั่วขณะ และมองหน้าคนเป็นพ่อ สูดลมหายใจเข้าและยิ้มออกมา พร้อมกับพูดว่า “ได้ครับ เดี๋ยวผมรีบไปทำความสะอาดในห้องของคุณใหม่เดี๋ยวนี้เลย” และเขาก็เดินกลับไปทำความสะอาดให้ใหม่ อีกรอบ
มันเกิดอะไรขึ้นกับลุค ทำไมเขาถึงตัดสินใจอย่างนั้นในคู่มือพนักงานก็ไม่ได้ระบุให้เขากลับไปทำความสะอาดใหม่ และการทำแบบนี้ก็จะส่งผลให้ การทำความสะอาดจุดอื่นๆกินเวลามากขึ้น ส่งผลให้หัวหน้าคนงาน อาจจะว่าเขาได้ สิ่งที่พอจะเป็นคำตอบของลุคได้นั้นก็คือ จุดประสงค์ในการดูแลผู้ป่วยของพนักงานทุกคนในโรงพยาบาล คือใส่ใจดูแลสภาพจิตใจของคนไข้ที่เข้ามารักษา ลุคไม่ได้คิดแค่ว่าเขาทำความสะอาด แต่ลุคทราบว่าเขากำลังช่วยรักษาให้คนไข้คนหนึ่งหายได้เร็วขึ้น จากการทำความสะอาดของเขา เขาเห็นพ่อของเด็กวัยรุ่นมาเฝ้าไข้ลูกตัวเองหลายวันแล้ว อาจจะมีอารมณ์โมโหหรือหงุดหงิดบ้างเป็นธรรมดา เขาพยายามเพื่อจะช่วยผ่อนคลาย ให้คุณพ่อรู้สึกดีขึ้น เพราะเขาเชื่อมั่นว่างานที่เขาทำมันมีคุณค่ากับผู้ป่วยมาก เขาจึงกลับไปทำความสะอาดให้ใหม่อีกรอบ ไม่ได้มีเรื่องเงินหรือแรงจูงใจทางด้านวัตถุเข้ามาเกี่ยวเลย แต่ลุคก็เป็นเพียงส่วนน้อยจากพนักงานทำความสะอาดคนอื่นๆ ในโรงพยาบาล ที่สามารถค้นหาคุณค่าหรือความหมายต่องานที่เขาทำได้
ผมได้เรียนรู้มาอย่างหนึ่งว่าการที่จะทำให้คนเราอยากมาทำงาน หรือมีแรงจูงใจให้เหมือนกับลุค ในงานๆนั้น คุณต้องสร้างความหมายในการทำงานหรือสร้าง “Why” เหตุผลที่ทำไมเราถึงทำงานนั้น ขึ้นมาให้กับพนักงานรับทราบ ต่อมาคุณต้องมี “What” หรืออะไรที่ทำให้พนักงานควรทำเพื่อสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม หลังจากนั้นคุณต้องมี “How” ด้วยวิธีการทำงานที่ให้อิสระ ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ ได้ตัดสินใจ โดยลดการจับผิดในกระบวนการลงไปหน่อย ชื่นชมในการทำงาน พูดคุย และให้ Feedback เพื่อพัฒนาเขาแทนที่จะลงโทษเพียงอย่างเดียว
ความเชื่อที่ว่าทำงานเพื่อเงินนั้น เป็นความเชื่อที่ฝังรากมานาน หลายศตวรรษแล้ว ดังนั้นการที่เราจะเปลี่ยนความคิดดังกล่าวอาจจะทำได้ยากหน่อย แต่คุณและผมสามารถทำได้โดยเริ่มปรับเปลี่ยนสถานที่ สภาวะแวดล้อมในงานๆ นั้น ไม่จำเป็นต้องรอให้เจ้าของธุรกิจหรือหัวหน้ามาเปลี่ยน ควรเริ่มที่ตัวเราเองเลย ลองค้นหาความหมายในการทำงานของคุณดู แล้วคุณจะรู้สึก อยากจะตื่นจากที่นอน แล้วรีบไปทำงานให้เร็วขึ้น ผมเป็นคนหนึ่งที่กำลังปรับที่ทำงานแห่งนี้อยู่ คุณลองนำไปปรับกันดูครับ - ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจาก หนังสือ Why We Work เราทำงานไปทำไม (ผู้เขียน Barry Schwartz )
Noonnum | Make You Better
Comentarios